การใช้เครื่องหมาย
การใช้เครื่องหมาย
ขณะนี้มีการใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งจากแพทย์เอง วงการแพทย์ และบุคลากรอื่น ๆ คงเนื่องมาจากทั้งแพทย์ วงการแพทย์ และบุคลากรทั่ว ๆ ไปไม่ทราบข้อมูลในการใช้เครื่องหมายกาชาดที่ถูกต้อง แม้แต่แพทย์เอง หลายท่านยังคิดว่าเครื่องหมายกาชาดนั้น แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดสามารถใช้ได้ ทางสภากาชาดไทยได้พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อไปนี้คงต้องทำมากยิ่งขึ้น บ่อยขึ้นตลอดเวลา เช่น อาจขอให้มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกโรงเรียน กฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้สภากาชาดไทยไม่ได้เป็นผู้ตั้งหรือวางกฎ แต่เป็นกฎของกาชาดสากลที่ทุกประเทศที่มีกาชาดจะต้องปฏิบัติดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
เครื่องหมายกาชาดเป็นเครื่องหมายที่ได้การรับรองตามความแห่งอนุสัญญาเจนีวา ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งกำหนดการใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง มีดังนี้
1. ใช้เพื่อการบ่งชี้ (ในยามสงบ)
- จะต้องมีเครื่องหมายและชื่อองค์กรที่เกี่ยวข้องปรากฏอยู่ด้วยกัน
- ไม่สามารถใช้เครื่องหมายกากบาทอย่างเดียวที่ปลอกแขน ต้องใช้ตราสัญลักษณ์สภากาชาดไทย
- ใช้เพื่อบ่งชี้ว่าบุคคลหรือสิ่งของต่าง ๆ เป็นของหน่วยงานองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง
- เครื่องหมายจะต้องมีขนาดเล็ก
2. ใช้เพื่อการคุ้มครอง (ในยามสงคราม)
- เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ของหน่วยงานกาชาด
- บุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพ
- หน่วยบริการทางการแพทย์ บุคลากรด้านศาสนา และองค์กรมนุษยธรรมอื่น ๆ อาจสามารถใช้เครื่องหมายกาชาดได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- ขนาดของเครื่องหมายจะมีขนาดใหญ่ เห็นเด่นชัด
- ต้องเป็นเครื่องหมายกาชาดเท่านั้น ไม่ต้องมีชื่อองค์กรหรือตัวอักษรอื่นใด
ประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาเจนีวาฉบับนี้ และได้ตราพระราชบัญญัติสภากาชาดไทย พ.ศ. 2499 กำหนดผู้มีสิทธิการใช้ การคุ้มครอง และบทลงโทษเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายกาชาด ในมาตรา 9 , 10 และมาตรา 11 ดังนี้
“มาตรา 9 ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดโดยไม่มีสิทธิตามอนุสัญญา หรือตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“มาตรา 10 ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดหรือถ้อยคำใด ๆ เลียนแบบเครื่องหมายกาชาด หรือนามกาชาด หรือคล้ายคลึงเครื่องหมายหรือนาม เช่นว่านั้น จนอนุมานได้ว่าทำเพื่อหลอกลวงประชาชน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“มาตรา 11 ผู้ใดกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ด้วยความมุ่งหมายทางการเงิน หรือทางการพาณิชย์ใด ๆ ประทับเครื่องหมายกาชาด หรือนามกาชาดลงบนสินค้าเพื่อขาย เป็นต้นว่า ฉลาก หรือ เครื่องหมายการค้า มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จึงขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะบุคลากรในวงการแพทย์โปรดกรุณารับทราบ และกระจายข้อมูลนี้ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้